Saturday, January 5, 2013

สิทธิที่ซ่อนเร้น...ในการยกเว้นภาษี

สิทธิที่ซ่อนเร้น...ในการยกเว้นภาษี


           
                                                       
สิทธิที่ซ่อนเร้น....ในการยกเว้นภาษี
                        ในการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ มีบุคคลที่ท่านต้องเจอ
ทั้งๆที่ไม่อยากเจอสักเท่าไหร่ อยู่จำนาน 3 พวกด้วยกันนั้นก็คือ Immigration,
 Customs และ Quarantine.........Immigration นั้นก็คือ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้า
เมือง หรือที่เราเรียกย่อๆว่า ตม.  มีหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทางของเรา และมี
อำนาจที่จะให้เราเข้าประเทศหรือไม่เข้าประเทศก็ได้  Customs คือ ศุลกากร 
มีหน้าที่ตรวจตราสินค้าหรือของที่ติดตัวมากับเรา ว่ามีของอันใดที่เป็นของต้องห้าม,
 ของต้องกำกัดหรือของต้องเสียภาษีอากร หรือไม่? ส่วน Quarantine นั้นเป็น
เจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายรวมกัน ทั้งหมอ ด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์ มีหน้าที่กัก
กันตัวเราหรือพืชผักสัตว์สิ่งของที่นำเข้ามา ซึ่งตรวจสอบแล้วว่ามีเชื้อโรค หรือแมลง
 หรือสัตว์ที่เป็นอันตรายปะปนติดตัวเข้ามา ท่านจะอยากเจอหรือไม่อยากเจอ ทุก
ด่านที่มีการผ่านเข้าออกระหว่างประเทศ ไม่ว่าที่ใดในโลกท่านก็จะต้องพบบุคคล
ทั้ง 3 จำพวกนี้
                
                          แต่ในฐานะที่เป็น ศุลกากร วันนี้ผมจะเล่าเรื่อง สิทธิใน
การยกเว้นภาษีอากรแก่ของที่ท่านนำติดตัวเข้ามา ว่ามีสิ่งใดบ้าง เผื่อท่านจะ
ได้นำไปเป็นความรู้ ไว้เถียงกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ หากเจ้าหน้าที่เขาจะเก็บ
ภาษีท่าน สิทธิในการยกเว้นภาษีอากรแก่ของที่นำติดตัวเข้ามาในประเทศไทย
มีกล่าวไว้ใน พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ในภาค 4 ประเภท
 5 ว่า
                        ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง
หรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เว้นแต่รถยนต์ อาวุธปืนและ
กระสุนปืน และเสบียง แต่สุรา บุหรี่ ซิการ์ หรือยาเส้น ซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้
เดินทางนำเข้ามาพร้อมกับตนนั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้น
อากรให้ได้ตามที่เห็นสมควรเป็นแห่งๆ ไป แต่ต้องไม่เกินปริมาณดังนี้
(ก)         บุหรี่สองร้อยมวน หรือซิการ์หรือยาเส้นอย่างละสองร้อยห้า
สิบกรัม หรือหลายชนิดรวมกันมีน้ำหนักทั้งหมดสองร้อยห้าสิบกรัม แต่
ทั้งนี้บุหรี่ต้องไม่เกินสองร้อยมวน
(ข)        สุราหนึ่งลิตร 

                       จากกฎหมายข้อนี้ก่อให้เกิดสิทธิยกเว้นภาษีอากร อย่าง
ใหญ่หลวงแก่ท่านก็คือ ของส่วนตัว ไม่ใช่ ของใช้ส่วนตัว นะครับ ของส่วน
ตัวกินความมากไปกว่าของใช้ส่วนตัวหลายเท่า มันมีที่มาที่ไปอยู่ว่าเดิมกฎหมาย
ก็ใช้คำว่า ของใช้ส่วนตัว นี่แหละครับ แต่ปรากฏว่ามันไปมีปัญหากับ นักท่อง
เที่ยวชาวยุโรปจำนวนมาก เพราะชาวยุโรปนั้นนิยมที่        จะเลี้ยงสัตว์ประเภท
สุนัข แมว แล้วก็มักนำติดตัวเข้ามา   สุนัขหรือแมว ก็ถูกตีความว่าเป็น ของใช้
ส่วนตัวหรือไม่? ซึ่งเมื่อไม่ใช่ ของใช้ส่วนตัว ก็เลยก่อให้เกิดปัญหาว่า จะต้อง
เก็บภาษีหรือจะทำประการใดเพราะเจ้าของเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะนำเข้ามาไว้ในประ
เทศไทย เพียงแต่นำติดตัวเข้ามาแล้วก็จะนำกลับไปเมื่อเดินทางออกนอกประเทศ
ก็เลยต้องไปดำเนินการเข้าประเภทพิธีการนำของเข้าชั่วคราว          ต้องทำใบ
ขนสินค้าวางประกัน ต้องวางเงินประกันค่าภาษีอากร แล้วเมื่อเดินทางออกจึงจะ
ขอถอนเงินประกันค่าภาษีอากร ยุ่งยากวุ่นวายเป็นหนักหนา ทั้งที่ประเทศใน
แถบยุโรปเขาตีความว่าสัตว์เลี้ยงที่นำติดตัวเจ้าของมาก็คือ “Personal Effect”
 หรือที่คนไทยแปลความหมายได้ว่า ของใช้ส่วนตัวนั่นเอง แต่เมื่อเป็นคำไทย
มันก็จะติดอยู่กับคำว่า ใช้ นี่แหละครับ ทำให้ข้องใจว่า หมา แมว มันจะไป
ใช้ได้ยังไง? เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพระราชกำหนดพิกัดใหม่ ก็จึง
เปลี่ยนเสียใหม่ว่า ของส่วนตัว ด้วยประการละฉะนี้!!!
              
                                     “ของส่วนตัว นั้นก็เป็นไปได้ทั้งหมดที่บุคคลพึงจะใช้ในชีวิต
ประจำวัน เช่น แว่นตา นาฬิกา เสื้อผ้า รองเท้า เข็มขัด เข็มกลัด สร้อยคอ ต่างหู
 แหวน กำไล กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง ยารักษาโรคประจำตัว วิทยุขนาด
พกพา โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอขนาดพกพา และแม้กระทั่ง
คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คก็เป็น ของส่วนตัว ที่ท่านจะได้สิทธิยกเว้นภาษีอากรตาม
กฎหมายฉบับนี้
                        แล้วอะไรที่ท่านไม่ได้สิทธิยกเว้นตามกฎหมายฉบับนี้บ้าง
หรือเรียกง่ายๆ ของที่กฎหมายบอกว่าไม่ใช่หรือไม่ให้เป็น ของส่วนตัว ก็เช่น
1.รถยนต์
2.อาวุธปืนและกระสุนปืน
3.เสบียง ซึ่งก็คืออาหารทั้งหมด...ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาห้ามทำไม...ก็มันของ
อร่อยของเราบ้านเมืองอื่นมันไม่มีอาหารที่เราชอบอย่างนี้นี่นา...แค่นี้ก็ต้องห้าม
ด้วย....แต่เมื่อกฎหมายเขาห้ามก็อย่าไปเถียงเจ้าหน้าที่เขาละครับว่า....น้ำพริก
แมงดาสุดโปรดของชั้นคุณจะมาเก็บภาษีชั้นได้อย่างไร...พูดกับเขาดีๆเดี๋ยว
เจ้าหน้าที่เขาก็ใจอ่อนเองครับ....ศุลกากรไทยใจดีจะตาย!!!
4.บุหรี่และเหล้า นำเข้าได้ครับยกเว้นภาษีให้ต่อบุคคลไม่เกิน 1 Carton หรือ
 หนึ่งแท่งสำหรับบุหรี่ หรือถ้าเป็นยาเส้น, ซิการ์ก็ไม่เกิน 250 กรัม ถ้านำเข้า
ทั้งบุหรี่ทั้งซิการ์ ยาเส้น ก็รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 250 กรัม ส่วนเหล้าไม่ว่าเหล้า
อันใดนะครับ ไม่ว่าจะเป็น ไวน์ ลิเคอร์ วิสกี้ แชมเปญ ว้อดก้า บรั่นดี หรือแม้
กระทั่งเบียร์ ได้แค่ 1 ลิตรครับ หรือคิดง่ายๆก็หนึ่งขวด แต่อย่าได้ทำหัวหมอ
นะครับ ว่าเหล้าชั้นมี 8 ขวด ขวดหนึ่ง 0.75 มิลลิลิตร ชั้นมีสิทธิ 1 ลิตร พวก
ชั้นมากัน 6 คน ชั้นก็ต้องนำเข้าได้ 8 ขวด เดี๋ยวเจ้าหน้าที่เขาหมั่นไส้เอา
ให้เอาถุงมาเทใส่แล้วให้แบกไปส่วนตัวคนละ 1 ลิตร มันจะอายคนอื่นเขาครับ
 วิธีการนี้ผมเจอประจำกับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ซึ่งมักจะมีหัวหน้าทัวร์ชอบ
ขนเหล้าเข้ามาหลายลัง แล้วก็จะแบ่งๆให้ลูกทัวร์ช่วยกันถือเข้ามา แล้วมักจะมา
เถียงแบบนี้แหละครับ เราทำผิดกฎหมายก็อย่าดื้อด้านเลยครับ เจ้าหน้าที่เอง
เขาก็มีทางออกที่อะลุ่มอล่วยให้ เพราะถึงแม้ว่าตามกฎหมายแล้ว คุณจะต้อง
ถูกดำเนินคดี ถูกปรับถูกยึดนานาประการ ทั้งตามกฎหมายศุลกากรและกฎหมาย
สรรพสามิต แต่ก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรไทย เคยทำอย่างนั้น บอกแล้วว่า
ศุลกากรไทยใจดีจะตาย เขาจะมีกล่องให้ครับ ให้ท่านหย่อนเหล้าบุหรี่ที่เกิน
โควต้า เข้ามาในกล่องนั้น แล้วพอหมดเวรเจ้าหน้าที่ศุลกากรก็จะจัดตั้งกรรมการ
ตรวจสอบ เหล้าบุหรี่นั้นแล้ว ยึดไว้เป็นของกลาง ดำเนินคดีในฐานะ ไม่มีผู้
ต้องหา ต่อไป
               

                           นอกจาก ของส่วนตัว ที่กฎหมายจะยกเว้นภาษีอากร
ให้แล้ว กฎหมายยังยกเว้นให้กับของใช้ในวิชาชีพด้วยนะครับ เช่นว่าท่านเป็น
นักข่าวของ เนชั่น ไปทำข่าว ก็ย่อมจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือมาก
มาย ทั้งกล้องถ่ายรูปตัวเบ้อเริ่มเทิ้ม เลนส์อีกนับสิบตัว กล้องถ่ายวิดีโอตัว
เท่าถุงไม้กอล์ฟ เครื่องอะไรต่อมิอะไรอีกรุงรังที่ศุลกากรเองก็ไม่รู้จักหรอกครับ
 เครื่องมือเครื่องใช้ในวิชาชีพเหล่านี้ท่านได้รับการยกเว้นอากรครับ สำหรับ
นักดนตรีก็เช่นครับ ถ้าท่านถือกีต้าร์เข้ามาสักตัว แล้วมีหลักฐานแสดงว่าท่าน
เป็นนักดนตรี ศุลกากรก็จะปล่อยผ่านภาษีอากรครับ แต่ถ้าหากท่านเข้ามา
ทั้งวง ขนเครื่องดนตรีกันมาเป็นคอนเทนเนอร์ อันนี้ต้องไปว่ากันในประเภท
ของนำเข้าชั่วคราวนะครับ เรื่องของใช้ในวิชาชีพผมสงสารก็แต่ นักขับรถ
แข่ง ครับ เพราะกฎหมายไม่ถือว่าเป็น ของส่วนตัว ยกเว้นไม่ได้ครับ!!!
                           กฎหมายยังใช้คำว่า พอสมควรแก่ฐานะ คือหมายความ
ว่าของส่วนตัวทั้งหลายแหล่ ที่พูดกันมาทั้งหมดข้างบนนั้น ต้องมีความเป็น พอ
สมควรแก่ฐานะ พูดง่ายๆว่าคนรวยก็สามารถมีของส่วนตัวได้แพงกว่าคนจน
ล่ะครับ ยกตัวอย่างเช่น คุณหญิงพจมาน อาจจะใส่แว่นตาฝังเพชร นาฬิกา
หน้าปัดทองคำขาว ใส่รองเท้าประดับพลอยวูบวาบ เข้ามาได้ โดยที่คุณครูทิพย์
ทำอย่างนั้น อาจถูกศุลกากรจับเสียภาษี ฟังดูอาจไม่ค่อยยุติธรรมนะครับ แต่ว่า
คนรวยก็ไม่อาจจะทำอย่างนั้นได้โดยสะดวกนักหรอกครับ ไม่อาจจะซื้อแหวน
เพชร สร้อยเพชร เข้ามาแล้วไม่เสียภาษีได้ เพราะมันมีคำนิยามอยู่ว่า ของส่วน
ตัว เหล่านั้นจะต้องเป็นของ ใช้แล้ว ครับ พูดง่ายๆก็คือแม้จะนำของมีค่าสูงๆ
เข้ามา แต่ก็ต้องเป็นของใช้แล้วและต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าเป็นคนมีฐานะ พอ
สมควรกับสิ่งของที่นำติดตัวเข้ามานั้น
                     
                           อ่านถึงตอนนี้แล้วอาจจะมีปัญหาว่า อ้าว....ชั้นไปเมือง
นอกทั้งทีแล้วชั้นจะซื้ออะไรเข้ามาได้บ้าง?? ศุลกากรไทยเข้าใจคนไทยครับว่า
 ชอบซื้อของฝากของขวัญ  ไปไหนทีก็คิดถึงคนนั้นคนนี้ต้องซื้อของฝาก จน
ไม่เป็นอันเที่ยว ของที่ท่านซื้อเข้ามานั้นหากดูได้ว่าเป็นของที่ไม่มีลักษณะอัน
เป็นสินค้าและมีราคาไม่เกิน..หนึ่งหมื่นบาท..โดยมีหลักฐานการซื้อมาแสดง
ได้รับการยกเว้นภาษีครับ......อะไรคือ ของที่ไม่มีลักษณะอันเป็นสินค้า ???
ก็เช่นว่า....ท่านไม่ได้ซื้อรองเท้าเข้ามาทีละยกโหล หรือไม่ได้ซื้อเสื้อผ้าเข้ามา
ทีละกระสอบ หรือไม่ได้ซื้อน้ำหอมเข้ามาทีละยกแผง แม้มันจะราคารวมกัน
แล้วไม่เกิน หนึ่งหมื่น บาทก็ตาม ถือว่า เป็นของที่มีลักษณะอันเป็นสินค้าครับ
 ต้องเสียภาษีอากรตามระเบียบ ของที่ซื้อเข้ามามากเกิน หนึ่งหมื่น บาท
แม้จะเป็นอย่างละชิ้น เช่น สูทหนึ่งชุด+รองเท้าหนึ่งคู่+กระเป๋าถือหนึ่งใบ+
น้ำหอมหนึ่งขวด+แว่นตาหนึ่งอัน แม้จะเป็นของที่ซื้อเข้ามาเพื่อใช้เอง แต่ถ้า
เกิน-หนึ่งหมื่นบาท-อันนี้ต้องเสียภาษีอากรครับ แต่แยกให้ถูกนะครับถ้าเป็น
ของใช้แล้วไม่นับนะครับ นับเฉพาะของที่ท่านยังไม่ได้ใช้แล้วซื้อเข้ามาครับ
ส่วนข้ออ้างยอดฮิตว่า ซื้อมาเป็นของฝากของขวัญ อันนี้อ้างให้ตาย ก็ไม่มี
ใครฟังหรอกครับ เพราะไม่มีกฎหมายยกเว้นให้ แต่ผมเคยเจอข้ออ้างหนึ่งฟัง
แล้วยังงงๆจนถึงทุกวันนี้ ก็คือว่าซิ้มคนหนึ่งแกซื้อรองเท้าชนิดเดียวกันกัน
แบบเดียวกันเข้ามาเยอะแยะเลยครับ สักสอง-สามโหลได้ แกก็บอกตรงๆ
ว่าแกจะเอาไปขาย ผมก็บอกว่าซิ้มต้องเสียภาษีหน่อยนะ แกตอบกลับด้วย
ความฉุนเฉียวว่า เสียภาษีอาไล...ของอั๊วะยังไม่ได้ขายสักชิ้น....ได้กำไล
หรือเป่าก็ยังม่ายลู้......ลื้อจามาเก็บภาษีอาไล ว่าแล้วแกก็เข็นของไปทัน
ที ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ยืนเซ่อรับประทานอยู่ตรงนั้น!!!
                        เดี๋ยวคราวหน้าผมจะมาว่าให้ฟังเรื่องวิธีการเก็บภาษี
ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้ฟังกันครับ........วันนี้ลาไปก่อนสวัสดีครับ...........

0 comments:

Post a Comment