Thursday, January 24, 2013

ทางเลือกเลิกเหล้า กลุ่มเพื่อช่วยเพื่อน

กลุ่มเพื่อช่วยเพื่อน
 http://www.1413.in.th/uploads/%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99.jpg

      กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นกลุ่มช่วยเหลือกันเอง โดยมีกระบวนให้เกิดการสร้างความหวัง และพลังใจให้กันและกัน  ซึ่งถือว่ากลุ่มเพื่อช่วยเพื่อนมีส่วนสำคัญมากในการป้องกันการกลับไปดื่ม สุราซ้ำ ในต่างประเทศได้รับความนิยมมาก เช่น สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะช่วยทำให้ผู้มีปัญหาการบริโภคสุรา หยุดดื่มได้นานขึ้น มีชีวิตดีขึ้น ประเทศไทยกำลังมีความพยายามที่จัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อรองรับกับปัญหาที่มีอยู่ ทั้งแบบจัดตั้งกันเอง และการผลักดันจากนโยบายของภาครัฐ ดังนั้นขอนำเสนอให้รู้จัก 2 รูปแบบคือ
1.ชมรมจิตอาสา โรงพยาบาลจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
      โดยกระบวนการกลุ่ม “ชมรมจิตอาสา”โรงพยาบาลจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกลุ่มช่วยเหลือกันเองแบบไม่เป็นทางการ เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพและการปรับตัวต่อปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม ทำให้สมาชิกรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง โดยมีกระบวนการกลุ่ม 3 ระยะคือ ระยะสร้างสัมพันธภาพ ระยะดำเนินการ และระยะสิ้นสุดการทำกลุ่ม

      เริ่มต้นจากสมาชิกเข้าไปสร้างความคุ้นเคยกับผู้ที่ดื่มสุราทั้งในคลินิกเลิก สุราและตึกผู้ป่วยใน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบ ข้อดีข้อเสียของการดื่มและการเลิกดื่มสุรา ชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกชมรมจิตอาสา ถ้าผู้ที่ดื่มสุราไม่สนใจหรือยังไม่พร้อมที่จะเลิกดื่มหรือเข้าร่วมเป็น สมาชิกของชมรมฯ ก็ยอมรับและเข้าใจ ทั้งยังให้กำลังใจอยู่ตลอด สำหรับผู้ที่พร้อมจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกฯ ก็ชื่นชมพร้อมกับนัดหมายการทำกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

      บรรยากาศของกระบวนการกลุ่มเน้นการส่งเสริมให้สมาชิกได้แสดงความรู้สึก ความคิดเห็นด้วยความรู้สึกที่เป็นอิสระ มีความไว้วางใจและเชื่อมั่นกันและกัน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหา และยอมรับซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือให้กำลังใจกัน แม้ว่าจะมีใครกลับไปดื่มสุราซ้ำก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่ตำหนิหรือซ้ำเติมให้เสียใจ คราวหน้าค่อยเริ่มต้นใหม่ ประโยชน์จากกลุ่มนำไปปรับใช้และขยายเครือข่ายต่อไป ส่งผลดีให้สมาชิกสามารถเลิกสุราได้สำเร็จ จากนั้นได้สร้างตัวแบบที่ดีในการเปลี่ยนแปลงตนเองขยายออกไปเรื่อยๆ โดยให้รางวัลด้านจิตใจ ชื่นชม ยกย่องจากสมาชิกชมรมจิตอาสา ครอบครัวยอมรับและเกิดสัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น ชุมชนให้โอกาส รวมถึงการใช้พลังในตนเองของสมาชิกเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติเพื่อเลิก ดื่มสุรา รวมถึงการมอบเกียรติบัตรในการเลิกดื่มสุราได้สำเร็จมานานกว่า 1 ปี ด้วย

      ข้อดีของกระบวนการกลุ่มทำให้สมาชิกมีความรู้สึกเป็นสากล คือ สมาชิกแต่ละคนตระหนักว่าทุกคนก็มีปัญหาเหมือนๆ กัน ไม่ใช่เราคนเดียวที่มีปัญหา และเกิดความรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ ทำให้เกิดความสบายใจขึ้น การเข้ากลุ่มเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสมาชิกในการดูแลตนเอง ให้กำลังใจระหว่างกันในการเผชิญปัญหาความเครียด และเสริมทักษะการป้องกันการกลับไปดื่มซ้ำ  และมีการเลียนแบบพฤติกรรมของคนอื่นที่ตนเองพอใจ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สามารถเลิกสุราได้สำเร็จได้ในที่สุด
2.กลุ่มผู้ติดสุรานิรนามตามหลัก 12 ขั้นตอน
      กลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรังนิรนาม หรือกลุ่มเอเอ เป็นกลุ่มชายและหญิงที่มาแบ่งปันประสบการณ์  ความหวัง  ช่วยกันแก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุรา

      สมาคมนี้มีสมาชิก 2 ล้านกว่าคน มีกลุ่มประมาณหนึ่งแสนกว่ากลุ่ม อยู่ตามประเทศต่างๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก 

      สมาชิก คือ ผู้ที่อยากหยุดดื่มสุรา  การเป็นสมาชิกไม่มีค่าใช้จ่าย กลุ่มเอเออยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากสมาชิก กลุ่มเอเอไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร ความเชื่อ ศาสนา หรือการเมือง และไม่ประสงค์ที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวใดๆ

      หลักการสำคัญของกลุ่มเอเอ คือ การหยุดดื่ม และช่วยผู้ติดสุราหยุดดื่มสุรา

      หลัก 12 ขั้นตอน เป็นหลักการฟื้นฟูทางด้านจิตวิญญาณสำหรับผู้ติดสุรา เพื่อใช้เป็นหลักในการดำเนินกลุ่มเอเอ เพื่อเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสมาชิกกลุ่ม ทำให้กลุ่มคงความเป็นอิสระ ไม่พึ่งพาองค์กรภายนอก ป้องกันความขัดแย้งทางศาสนาและอิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซงแสวงหาผล ประโยชน์ และยังทำให้กลุ่มสามารถรักษาความลับและความเป็นนิรนามของสมาชิกไว้ได้

      สาระสำคัญในหลัก 12 ขั้นตอนมีดังต่อไปนี้ ในขั้นต้นเป็นการยอมรับตนเองว่ามีปัญหาติดสุราและไม่สามารถแก้ปัญหาของตนเอง ได้ ผู้ติดสุราต้องหันกลับมาเคารพศรัทธา พลังอำนาจที่อยู่เหนือตนในการกลับฟื้นตัวจากโรคติดสุรา พลังอำนาจที่อยู่เหนือตนในหลักการคือ สิ่งที่เป็นพลังใจในศรัทธาความเชื่อของผู้นั้นซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามความ เชื่อของแต่ละศาสนา การหมั่นทบทวนถึงการกระทำที่ผ่านมาของตนเอง การยอมรับสิ่งผิดพลาดในอดีต การยอมรับผิดกับบุคคลอันเป็นที่เคารพรัก และการขอขมาโดยตรงต่อบุคคลที่ตนเองเคยล่วงเกินไว้

      ความสม่ำเสมอในการทบทวนตนเอง ยอมรับผิดอย่างจริงใจเมื่อพบว่าผิด การสวดอ้อนวอนภาวนาและการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงสิ่งที่เป็นพลังใจ เมื่อค้นพบความสงบสุขก็ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยังมีปัญหาติดสุราหรือสารเสพ ติดอื่นๆ ต่อไป

      ปัจจุบันกลุ่มเอเอไทยที่มีการดำเนินกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ  มีอยู่ประมาณ 12 กลุ่ม คือ กลุ่มเอเอในศูนย์บำบัดยาเสพติดขอนแก่น จ.ขอนแก่น และเครือข่ายโรงพยาบาลในภาคอีสาน กลุ่มเอเอในโรงพยาบาลอำเภออกุดชุม จ.ยโสธร กลุ่มเอเอในโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ และเครือข่ายโรงพยาบาลในภาคเหนือ   กลุ่มเอเอในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร   และกลุ่มเอเอที่ศูนย์การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยานานาชาติ (Psychological service international หรือ PSI) ซ.สุขุมวิท43 กรุงเทพมหานคร  

      ท่านสามารถทดลองเข้าร่วมกลุ่มเอเอ  โดยติดต่อไปยังสถานบำบัดที่มีรายนามข้างต้นได้  หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มเอเอไทยได้จาก  Website ที่เป็นทางการ คือ www.aathailand.org  และสายด่วนหมายเลข 02-231-8300
      ขอบคุณเนื้อหาจากแผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการบริโภคสุราแบบบูรณาการ (ผรส.) และพิชัย แสงชาญชัย คู่มือสายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์1413 ; 2553
หากมีปัญหาหรือข้อสงสัย โทรมาคุยกับเราได้ที่ สายด่วน 1413  ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราทางโทรศัพท์

0 comments:

Post a Comment